โรงเรียนภาคบังคับในนอร์เวย์

โรงเรียนภาคบังคับในประเทศนอร์เวย์

โรงเรียนภาคบังคับใช้เวลาเรียน 10 ปี และแบ่งออกเป็นระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษาแบ่งเป็นระดับชั้น 1 – 7 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีสามระดับชั้น คือ 8- 10 เด็กเริ่มเข้าเรียนชั้นปีที่หนึ่งเมื่อเขามีอายุ 6 ขวบในปีนั้น และหลังจากการปิดเทอมภาคฤดูร้อนผ่านไปเขาจะได้ขึ้นอีกระดับชั้น
หนึ่งปีการศึกษานับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนถึงประมาณวันที่ 20 มิถุนายนของทุกๆปี ในปฎิทินการศึกษาจะระบุข้อมูลเกี่ยวกับวันหยุดต่างๆ วันปิดเทอมในของปีการศึกษาไว้ คุณสามารถขอปฎิทินการศึกษาได้จากโรงเรียน หรือค้นหาได้จากเว็ปไซต์ของทางเทศบาลประจำอำเภอ(kommune)

โรงเรียนภาครัฐเรียนฟรี

โรงเรียนภาคบังคับมีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและของภาคเอกชน หน่วยราชการเทศบาลประจำอำเภอเป็นเจ้าของโรงเรียนรัฐบาลและไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น รวมถึงชั่วโมงเรียน อุปกรณ์การเรียนและกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมานี้นับเป็นส่วนของหนึ่งของการศึกษา เด็กทุกคนที่มีอายุระหว่าง 6-16 ปีอยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ มีสิทธ์เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล

การขาดเรียนและการขอลาหยุด

ในประเทศนอร์เวย์กำหนดไว้ว่าเด็กทุกคนที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ต้องมาโรงเรียนทุกวันและทุกชั่วโมงที่มีการเรียนการสอน ผู้ปกครองไม่สามารถที่จะตัดสินใจให้นักเรียนหยุดเรียนได้
ทางโรงเรียนจะจดบันทึกการมาเรียนของนักเรียนทุกวัน ถ้านักเรียนป่วยจนไม่สามารถมาเรียนได้ ผู้ปกครองสามารถให้เด็กพักผ่อนอยู่ที่บ้านได้ โดยผู้ปกครองมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบเมื่อนักเรียนป่วยและขาดเรียน โรงเรียนควรได้รับทราบข้อมูลในตอนเช้าของวันนั้นก่อนที่จะเริ่มการสอน ถ้านักเรียนป่วยต่อเนื่องหลายวัน ต้องยื่นใบรับรองการป่วยจากแพทย์
ถ้านักเรียนมีความจำเป็นที่จะขอลาหยุด นอกเหนือจากวันหยุดในปฎิทินการศึกษา ผู้ปกครองจำเป็นต้องเขียนใบลาหยุดและต้องยื่นให้ทางโรงเรียนก่อนที่จะหยุดเรียน ในใบลานั้นต้องแจ้งสาเหตุของการหยุดเรียนของนักเรียน ทางหน่วยราชการเทศบาลประจำอำเภอ สามารถอนุมัติให้เด็กหยุดเรียนได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ถ้าเห็นสมควร นักเรียนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์และจะขอวันหยุดเพื่อไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนาของตนเอง ต้องแจ้งขอลาหยุดในวันต่างๆนั้น

หลักการที่สำคัญของโรงเรียนในประเทศนอร์เวย์

หลักการที่สำคัญของโรงเรียนในนอร์เวย์ตั้งบนรากฐานว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โรงเรียนจะเน้นเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในทุกๆเรื่องที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน นักเรียนจะได้รับความปลอดภัยและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทางโรงเรียน

นักเรียนทุกคนจะได้รับความรู้สึกที่มั่นใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนและของโรงเรียน

โรงเรียนเน้นเรื่องความเชื่อมั่นและการเคารพในตัวนักเรียน จะไม่มีนักเรียนคนใดที่จะถูกรังแกหรือถูกเหยียดหยามเนื่องจากความแตกต่าง นักเรียนทุกคนจะได้รับความรู้สึกที่มั่นใจว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนและของโรงเรียน ทุกคนที่ทำงานที่โรงเรียนจะติดตามดูแลนักเรียน ถ้าผู้ใหญ่ที่ทำงานที่โรงเรียนคนใดคนหนึ่งรู้หรือคาดว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้น เช่น มีนักเรียนคนหนึ่งถูกรังแก ถูกเสียดสี เหน็บแนม หรือถูกกลั่นแกล้งด้วยวิธีการต่างๆ ที่ทำให้นักเรียนคนนั้นไม่มีความสุข พวกผู้ใหญ่เหล่านี้จะใช้วิธีนี้ทุกครั้งเมื่อเขาพบเห็น

  • พวกเขาจะเข้าห้ามปราม ระงับการทะเลาะวิวาททันที ถ้าเป็นไปได้
  • แจ้งอาจารย์ใหญ่ให้ทราบ
  • สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ถ้ามีนักเรียนอยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่ดีหรือไม่ปลอดภัยที่โรงเรียน อาจารย์ใหญ่มีหน้าที่ที่จะวางแผนงานและดำเนินการช่วยเหลือให้นักเรียนคนนั้นปลอดภัยและสร้างความรู้สึกที่มั่นใจให้นักเรียนขึ้นอีกครั้ง สิ่งนี้เรียกว่า กิจกรรมที่พึงปฎิบัติของโรงเรียน(skolens aktivitetsplikt)

ระเบียบวินัยและวินัย

โรงเรียนมีกฎระเบียบและวินัยที่นักเรียนต้องปฎิบัติตาม ถ้านักเรียนไม่ประพฤติปฎิบัติตาม ทางโรงเรียนในประเทศนอร์เวย์จะใช้วิธีพูดคุยตักเตือน เมื่อนักเรียนไม่ทำตามกฎระเบียบของโรงเรียนครั้งแรกจะถูกเรียกเพื่อมาตักเตือน ถ้ายังประพฤติตัวไม่ดีขึ้น ทางโรงเรียนจะแจ้งไปยังผู้ปกครองเพื่อรับทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองนำไปตักเตือนนักเรียนที่บ้าน นอกจากนี้ทุกๆชั้นเรียนยังมีตั้งกฏเกณฑ์ต่างๆ ของห้องขี้นมา ทั้งนักเรียนและครูประจำชั้นเป็นผู้กำหนด เพื่อให้ทุกคนได้รับความพอใจและพร้อมที่จะเรียนอย่างเต็มที่

นักเรียนทุกคนมีโอกาศเท่าเทียมกันที่จะเรียน

โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนทางด้านการศึกษาและการพัฒนาการอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงว่าความเป็นมาเรื่องภูมิหลัง หรือทักษะของนักเรียน ทางโรงเรียนคำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียน และพยายามช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียนเพื่อให้เขามีความรู้สึกที่ดีแก่โรงเรียนและสังคม การศึกษาให้ความรู้แก่นักเรียนและเพิ่มความต้องการที่จะให้นักเรียนศึกษาต่อ ทางโรงเรียนได้ส่งเสริมนักเรียนดังนี้

  • ให้เกิดการพัฒนาในตัวบุคคล
  • ให้พัฒนาความรู้ในด้านวิชาการต่างๆ
  • ให้สามารถอยู่รอดในสังคม
Bilde av en dame som møter elever med åpne armer

การเรียนการสอนที่เหมาะสม(Tilpasset opplæring)

นักเรียนทุกคนจะได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสม นักเรียนแต่ละคนแตกต่างกันและมีวิธีการเรียนรู้ที่ต่างกัน ดังนั้นโรงเรียนจะจัดการศึกษาที่เหมาะสมแก่นักเรียนทุกคน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการศึกษา

การศึกษาพิเศษ(Spesialundervisning)

นักเรียนบางคนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาพิเศษ ถ้าผู้ปกครองหรือทางโรงเรียนมีความเห็นว่าการศึกษานั้นไม่ส่งผลประโยชน์แก่นักเรียน ทางโรงเรียนมีหน้าที่ที่จะจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับคุณสมบัติและความสามารถของนักเรียน(tilpasset opplæring) ถ้าการศึกษานี้ยังไม่ส่งผลที่ตรงกับเป้าหมายอีก ทั้งทางโรงเรียนและหน่วยงานด้านจิตวิทยาเพื่อการศึกษา Pedagogisk-psykologisk tjeneste (PPT) รวมทั้งผู้ปกครองมีหน้าที่ร่วมกันที่จะประเมินนักเรียน เพื่อค้นหาแผนการศึกษาที่ตรงกับความสามารถของนักเรียน และเพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การศึกษาแบบนี้เรียกว่า การศึกษาพิเศษ (Spesialundervisning) นักเรียนที่มีเป้าหมายของการศึกษาที่ต่างจากนักเรียนคนอื่นๆในห้อง จะมีอุปกรณ์การเรียนพิเศษ และหรือมีผู้ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษ(ในชั่วโมงเรียน และหรือในช่วงพัก)

การทำงานร่วมกันระหว่างทางบ้านและโรงเรียน

ตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษากำหนดไว้ว่า ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองมีหน้าที่ร่วมกันที่จะรับผิดชอบในด้านการศึกษาภาคบังคับ โรงเรียนมีหน้าที่ที่จะทำงานร่วมกันกับผู้ปกครอง การทำงานร่วมกันแบบนี้ จัดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโรงเรียน

การทำงานร่วมกันระดับประเทศ

หน่วยงานราชการได้จัดตั้งให้มีกลุ่มตัวแทนผู้ปกครอง(foreldreutvalg) ในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย(FUG) FUG มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ผู้ปกครองและโรงเรียน FUG ยังให้คำแนะนำแก่หน่วยราชการในเรื่องเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน

การทำงานร่วมกันกับโรงเรียน

ผู้ปกครองของนักเรียนที่โรงเรียนมีส่วนร่วมที่จะคัดเลือกตัวแทนผู้ปกครอง หรือ foreldrenes arbeidsutvalg(FAU) FAU จะทำงานร่วมกันกับโรงเรียนและให้คำแนะนำกับอาจารย์ใหญ่
หลายๆโรงเรียนมีการเลือกตัวแทนผู้ปกครองของห้อง ตัวแทนนี้ได้รับการเลือกตั้งมีวาระหนึ่งปีการศึกษา และมีหน้าที่ทำงานร่วมมือกับครู ตัวแทนนี้ทำหน้าที่แทนผู้ปกครองคนอื่นๆ พวกเขาเจรจากับโรงเรียนในเรื่องต่างๆ

การทำงานร่วมกันในชั้นเรียน

โรงเรียนทุกๆโรงเรียนจะจัดให้มีการประชุมผู้ปกครองในช่วงระยะต้นๆของปีการศึกษา โรงเรียนส่วนมากจัดให้มีการประชุมผู้ปกครองสองครั้งต่อปี แต่บางโรงเรียนมีการประชุมมากกว่านั้น การประชุมผู้ปกครองจัดขึ้นเพื่อให้ผู้ปกครองทุกคนมีโอกาสมาร่วมประชุมพร้อมกันในชั้นเรียน ในการประชุมผู้ปกครองนี้จะมีการสนทนากันเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆของโรงเรียน ในปีการศึกษานั้นๆ รวมทั้งกิจวัตรประจำวันต่างๆที่ทำกันที่โรงเรียน เนื้อหาของการศึกษาและสิ่งที่ต่างๆ ที่ผู้ปกครองควรต้องรับทราบ
การประชุมผู้ปกครองอาจทำให้ผู้ปกครองรู้จักกันมากขึ้น ซึ่งทำให้เด็กรู้จักกันมากขึ้นทั้งที่โรงเรียนและนอกเวลาเรียนด้วย

การร่วมกันทำงานเพื่อบุตรของท่าน

ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก การร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองเป็นสิ่งดีและนำไปสู่ความสำเร็จทางด้านการศึกษาของนักเรียน คุณผู้เป็นแม่หรือพ่อต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อการพัฒนาการ และเข้าร่วมการประชุมผู้ปกครอง นั่นหมายถึงคุณได้แสดงความสนใจกับการศึกษาของบุตรของคุณ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คุณแบ่งบันความรู้ความเข้าในตัวบุตรของคุณให้กับโรงเรียนรับทราบ
คุณจะแสดงความสนใจในเรื่องการศึกษาของบุตรได้อย่างไร
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณผู้เป็นแม่หรือพ่อสามารถทำได้เพื่อแสดงความสนใจในเรื่องการศึกษาของบุตรของคุณ คุณทำได้ดังนี้

  • พูดคุยกับเด็ก/วัยรุ่น ซักถามว่าเขาทำอะไรบ้างและได้เรียนอะไรบ้างที่โรงเรียน
  • หาเวลาให้เด็ก/วัยรุ่น ให้เขาได้มีโอกาสทำการบ้าน
  • คุณพร้อมที่จะให้เวลากับบุตรของคุณ เมื่อเขาทำการบ้านที่บ้าน
  • ไปร่วมงานแสดงต่างๆของโรงเรียน
  • ติดต่อไปยังโรงเรียนเมื่อคุณมีคำถาม เมื่อคุณต้องการให้ข้อมูลหรือขอข้อมูล

การประชุมเพื่อพัฒนา(Utviklingssamtale)

การประชุมเพื่อการพัฒนาการนี้เป็นการประชุมระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และอาจารย์ที่ปรึกษา ที่นี่ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และครูประจำชั้นจะสนทนากันเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของนักเรียนในโรงเรียน จุดประสงค์ของการประชุมคือ ต้องการค้นหาวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือและสร้างสิ่งจูงใจทางด้านวิชาการและการเข้าสู่สังคมของนักเรียน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ทำอย่างไรนักเรียนจะสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง
นักเรียนและผู้ปกครองมาพบอาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อมีการประชุมเพื่อการพัฒนาการ อย่างน้อยสองครั้งต่อปีการศึกษา ผู้ปกครองควรพูดคุยกับบุตรก่อน ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุม คิดทบทวนคำถามที่จะถามโรงเรียน โรงเรียนมีหน้าที่ที่จะติดต่อกับคุณในฐานะผู้ปกครองอีก นอกเหนือจากเวลาที่มาประชุมหากจำเป็น
การประชุมผู้ปกครองนี้สามารถจัดขึ้นได้ระหว่างครูกับผู้ปกครองโดยไม่มีนักเรียน

การเก็บรักษาความลับ

ทุกๆคนที่ทำงานกับโรงเรียนมีหน้าที่เก็บรักษาความลับ นั้นหมายถึงพวกเขาไม่สามารถจะบอกข้อมูลที่รับมาจากที่ทำงานของเขาเกี่ยวกับเรื่องส่วนบุคคล ของคุณหรือของลูกให้กับคนอื่น การไม่เก็บรักษาความลับนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
กฎนี้มีข้อยกเว้นสองข้อคือ

  1. ถ้าบุตรของท่านต้องการความช่วยเหลือเพิ่มจากบุคคลภายนอก นอกเหนือจากโรงเรียน คุณจำเป็นต้องยินยอมให้โรงเรียนให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่บุคคลที่จะมาช่วยเหลือบุตรของคุณ การให้ความยินยอมเช่นนี้ หมายถึงคุณได้อนุญาตให้ทางโรงเรียนบอกบางสิ่งบางอย่างกับคนอื่น คุณและโรงเรียนต้องตกลงกันว่าอะไรที่สามารถบอกได้ การยินยอมเช่นนี้มีกำหนดระยะเวลา และคุณสามารถเรียกร้องมันกลับคืนได้เมื่อคุณต้องการ
  2. ถ้าโรงเรียนมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าบุตรของคุณได้รับการดูแลที่ขาดตกบกพร่อง หรืออยู่ในเกณฑ์อันตรายที่อาจได้รับบาดเจ็บด้วยกรณีใดกรณีหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนมีหน้าที่ในการแจ้งหน่วยสวัสดิการเด็ก(barnevernet)

ล่าม

การสื่อสารที่ดีและความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองถือว่าสำคัญมาก บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ล่าม ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองเองสามารถขอใช้ล่ามได้ ในกรณีที่ท่านจำเป็นต้องใช้ล่าม เช่น ในการประชุมผู้ปกครอง ท่านต้องแจ้งกับทางโรงเรียนล่วงหน้า ทางโรงเรียนเป็นผู้ติดต่อและจ่ายค่าล่าม ล่ามมีหน้าที่ในการรักษาความลับ และไม่อนุญาตให้ใช้เด็กเป็นล่าม

หลักสูตรการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาควบคุมการศึกษาในระดับการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาระดับมัธยมปลาย และหลักสูตรการศึกษาควบคุมเนื้อหาการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษารวมและหลักสูตรการศึกษาของแต่ละภาควิชา

บัญญัติหลักสูตรการศึกษา

บัญญัติหลักสูตรการศึกษาอธิบายถึงคุณค่าและหลักการที่มุ่งเน้นถึงการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมดของโรงเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับ และโรงเรียนระดับมัธยมปลาย
บัญญัติหลักสูตรการศึกษามุ่งเน้นเพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสที่จะพัฒนาความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการออกความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลและการตระหนักถึงจริยธรรม รวมถึงนักเรียนจะได้เรียนรู้ระบบประชาธิปไตยในภาคปฏิบัติด้วย
นักเรียนจะสามารถค่อยๆพัฒนาความรู้และความเข้าใจอย่างยั่งยืน พวกเขาสามารถไตร่ตรองการเรียนรู้ของตนเอง และสามารถนำสิ่งที่พวกเขาได้เรียนมาไปใช้ในบริบทที่แตกต่างกันได้ นักเรียนสามารถฝึกการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ-ทั้งนักเรียนเองคนเดียว และกับคนอื่นๆได้ นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการเรียน การทำงานร่วมกัน ความคิดใหม่ๆและความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินและผลตอบกลับ ความสงสัยและการค้นคว้าเป็นสิ่งสำคัญ

หลักสูตรวิชาต่างๆ

หลักสูตรของวิชาเหล่านี้ระบุถึงสิ่งที่นักเรียนจะได้เรียน โดยแยกเป็นระดับชั้น แต่ละโรงเรียนตัดสินใจเองว่า นักเรียนควรจะทำงานอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร

การประเมิณผล

นักเรียนจะได้รับการประเมิณผลระหว่างการเรียนจากคุณครูผู้สอนตั้งแต่ปีการศึกษาแรก การประเมิณเหล่านี้ถือว่าสำคัญมาก เพื่อที่นักเรียนจะได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสม นอกจากนี้การประเมิณเหล่านี้ยังช่วยให้นักเรียนเข้าใจด้วย ว่าเขาเองควรจะทำอย่างไรในการเรียนรู้ด้วยวิธีที่ดีที่สุด การประเมิณผลระหว่างการเรียนในวิชาต่างๆ จะรวมถึงเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความประพฤติตลอดปี การประเมิณนักเรียนมีทั้งการพูดและการเขียน
ในระดับประถมศึกษา จะไม่มีการให้คะแนนนักเรียนจากการประเมิณ ส่วนการประเมิณในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะมีทั้งการให้คะแนนและไม่มีคะแนน ระดับของคะแนน คือ 1–6 คะแนนที่ดีที่สุด คือ 6 นักเรียนทุกคนจะได้รับการประเมิณจากงานของตนเอง การพัฒนาตนเอง และความสามารถของตนเอง ซึ่งเรียกว่า การประเมิณตนเอง(egenvurdering)

นักเรียนที่มีภาษาแม่เป็นภาษาอื่น

นักเรียนที่มีภาษาแม่เป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษานอร์เวย์หรือภาษาซามี มีสิทธิ์ได้รับการศึกษาภาษาพิเศษจนกว่าพวกเขาได้เรียนรู้ภาษานอร์เวย์จนเพียงพอที่จะติดตามการเรียนการสอนตามปกติในห้องเรียนได้ การศึกษาภาษาพิเศษมีอยู่สามอย่าง คือ

  • การศึกษาภาษานอร์เวย์พิเศษ – มีชั่วโมงเฉพาะในการเรียนภาษานอร์เวย์
  • การศึกษาภาควิชาสองภาษา – นักเรียนมีสิทธิ์รับการช่วยเหลือด้วยการใช้ภาษาแม่เพื่อความเข้าใจในวิชาต่างๆ
  • การศึกษาภาษาแม่ – นักเรียนมีสิทธิ์ได้รับการเรียนการสอนภาษาแม่

โรงเรียนต้องวัดผลและประเมิณความสามารถด้านภาษานอร์เวย์ของนักเรียน เพื่อที่จะได้รู้ว่านักเรียนควรได้รับการศึกษาภาษาพิเศษหรือไม่ ถ้าผลการประเมิณสรุปได้ว่าเด็กควรจะได้รับสิทธิในการศึกษาภาษาพิเศษ จะต้องเป็นการตัดสินเฉพาะรายบุคคล ในเรื่องของเนื้อหาและขอบเขตของการศึกษาภาษาพิเศษนี้ ในฐานะผู้ปกครองคุณมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ในการตัดสินนั้น

การศึกษาภาษานอร์เวย์พิเศษ

นักเรียนที่พึ่งมาอยู่ในประเทศนอร์เวย์ และยังพูดภาษานอร์เวย์ได้ไม่มากนัก จะได้รับชั่วโมงการเรียนภาษานอร์เวย์เฉพาะตัว ซึ่งการศึกษาภาษานอร์เวย์พิเศษจะมีหลักสูตรเฉพาะ เมื่อนักเรียนได้เรียนภาษานอร์เวย์มากขึ้น พวกเขาสามารถที่จะเข้าร่วมการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติได้ โดยได้รับการช่วยเหลือพิเศษในบางส่วน เป้าหมายการศึกษาภาษานอร์เวย์พิเศษ คือ เพื่อให้นักเรียนได้รับการเรียนภาษานอร์เวย์ได้เพียงพอ เพื่อจะสามารถเข้าเรียนและติดตามการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติได้โดยไม่ต้องรับความช่วยเหลือพิเศษแต่อย่างใด อาจใช้เวลานานหลายปีในการเรียนภาษานอร์เวย์ให้พอเพียง จนสามารถได้ประโยชน์สูงสุดกับการเรียนการสอนเที่ป็นภาษานอร์เวย์ของทุกวิชา

การศึกษาภาควิชาสองภาษา

ในขณะที่นักเรียนได้รับการเรียนการสอนภาษานอร์เวย์ นักเรียนจะยังคงได้รับการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆด้วย ดังนั้นสิ่งที่จำเป็น คือ การที่นักเรียนได้รับการช่วยเหลือในภาษาแม่ เพื่อความเข้าใจด้านวิชาการต่างๆ ครูประจำวิชาและครูสองภาษาจะทำงานร่วมกันว่านักเรียนควรจะเรียนอะไรโดยใช้ภาษาแม่ เราเรียกว่า การศึกษาภาควิชาสองภาษา ซึ่งหมายความว่า นักเรียนได้รับการเรียนการสอนในวิชาต่างๆเหล่านี้ด้วยสองภาษา ในกรณีที่จำเป็น นักเรียนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาภาควิชาสองภาษา

การศึกษาภาษาแม่

การศึกษาภาษาแม่เป็นการเรียนการสอนในภาษาแม่ และเป้าหมายคือเพื่อการเรียนรู้ภาษาแม่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้นักเรียนเรียนภาษานอร์เวย์ได้ง่ายขึ้น โรงเรียนจะเป็นผู้ประเมิณว่านักเรียนมีความต้องการการศึกษาภาษาแม่หรือไม่ ถ้าโรงเรียนมีความเห็นว่านักเรียนควรได้รับการศึกษาภาษาแม่ แสดงว่านักเรียนมีสิทธ์ได้รับการเรียนการสอนภาษาแม่

การศึกษาพิเศษเบื้องต้นสำหรับนักเรียนที่เข้ามาอยู่ใหม่

นักเรียนที่พึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศนอร์เวย์ สามารถได้รับการศึกษาพิเศษเบื้องต้น เพื่อที่พวกเขาจะได้เรียนภาษานอร์เวย์ก่อนจะเริ่มเรียนในชั้นเรียนปกติ เทศบาลประจำอำเภอสามารถการจัดการการศึกษาพิเศษเบื้องต้นสำหรับนักเรียนที่พึ่งเข้ามาอยู่ใหม่แบบเฉพาะกลุ่ม เฉพาะชั้นเรียน หรือเฉพาะโรงเรียน การศึกษาพิเศษเบื้องต้นเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่นักเรียนหลายคนเรียนได้ดีกว่าหากพวกเขาได้ผ่านการศึกษาพิเศษเบื้องต้นมาก่อน การเรียนการสอนในการศึกษาพิเศษเบื้องต้นเน้นถึงการเข้าร่วมและสภาพแวดล้อมของการเรียนที่ดี

การศึกษานอกห้องเรียน

ถือเป็นเรื่องปกติที่นักเรียนในทุกระดับชั้นจะออกไปเดินทัศนศึกษา ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และทำกิจกรรมต่างในสถานที่อื่นๆ นอกเหนือจากการอยู่ในห้องเรียน นี่เป็นการเรียนการสอนเช่นเดียวกันกับการเรียนการสอนในโรงเรียน และเป็นภาคบังคับที่ต้องเข้าร่วม
เป็นเรื่องปกติในหลายๆโรงเรียนที่นักเรียนเดินทางไปเข้าค่ายหลายวัน และนักเรียนต้องพักค้างคืน จุดประสงค์ของการเข้าค่าย คือ เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพของนักเรียนทั้งในด้านวิชาการและด้านสังคม การเดินทางต่างๆ ที่จัดโดยโรงเรียนจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หากคุณสงสัยเกี่ยวกับการเดินทางหรือการเข้าค่าย คุณสามารถพูดคุยกับครูที่ปรึกษาสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนงานของการเดินทางหรือการเข้าค่ายพักแรมได้
หลักการของเรียนการสอนที่เหมาะสม(tilpasset opplæring) ยังใช้กับการศึกษานอกห้องเรียนเช่นกัน ซึ่งถือว่ามีคุณค่ามากเมื่อนักเรียนทุกคนเข้าร่วม ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนที่จะได้เรียนรู้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และการเดินทางดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ด้านสังคมในห้องเรียน หากมีบางอย่างที่ทำให้ลูกของคุณรู้สึกว่ายากในการเข้าร่วมกิจกรรม คุณต้องนำไปพูดคุยกับครูที่ปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาสำหรับลูกของคุณ

การบ้าน

เป็นเรื่องปกติที่นักเรียนได้แบบฝึกหัดมาทำที่บ้านหลังเลิกเรียน ตามปกติแล้วการบ้านจะเป็นเนื้อหาที่นักเรียนได้เรียนมาแล้วที่โรงเรียน และเพื่อที่นักเรียนจะได้ฝึกและทบทวนที่บ้าน ถือเป็นการดีมากที่คุณในฐานะผู้ปกครองคอยติดตามและแสดงความสนใจในเรื่องการบ้านของลูกคุณ
ทุกโรงเรียนจัดให้มีการช่วยเหลือการบ้าน แต่ก็มีความแตกต่างกันไปว่าจะให้มีการช่วยการบ้านในระดับชั้นใดบ้าง หน่วยงานจิตอาสาต่างๆในบางเทศบาลจัดให้มีการช่วยหลือการบ้าน คุณสามารถถามทางโรงเรียนได้ว่า มีการจัดการช่วยเหลือในด้านใดบ้าง

เวลาว่างของนักเรียน

เด็กและเยาวชนเรียนรู้เมื่อพวกเขาอยู่ที่โรงเรียนและนอกเวลาเรียน

การดูแลก่อนและหลังเวลาโรงเรียน(SFO)

โรงเรียนระดับประถมศึกษาทุกโรงเรียนมีการจัดให้มีการดูแลก่อนและหลังเวลาโรงเรียน สำหรับนักเรียนระดับชั้น 1–4 การดูแลก่อนและหลังเวลาเรียนนี้ เป็นการจัดขึ้นเพื่อการดูแลเลี้ยงดู และจัดกิจกรรมต่างๆให้นักเรียน ทั้งก่อนและหลังเวลาโรงเรียน การดูแลก่อนและหลังเวลาเรียนในทุกเทศบาลนั้นมีค่าใช้จ่าย แต่เทศบาลประจำอำเภอบางแห่งไม่มีค่าใช้จ่าย

กิจกรรมเวลาว่างของนักเรียน

เด็กและเยาวชนหลายคนเข้าร่วมกิจกรรมเวลาว่างต่างๆที่มีการจัดขึ้น และได้เรียนรู้มากมายจากกิจกรรมเหล่านี้ ถ้าเพื่อนที่โรงเรียนมีความสนใจในกิจกรรมเวลาว่างร่วมกัน จะทำให้การมีเพื่อนง่ายขึ้น และยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านสังคมที่ดีสำหรับนักเรียนด้วย ผู้ปกครองเองก็สามารถร่วมมีบทบาทที่สำคัญได้ ในกิจกรรมต่างๆ นอกเวลาเรียนของลูกได้ บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองร่วมมือกันในการขับรถรับส่งเด็กไปฝึกกีฬาและเข้าร่วมงานต่างๆที่ถูกจัดขึ้น ผู้ปกครองหลายคนยังเป็นผู้ฝึกสอนหรือบางคนมีส่วนร่วมในส่วนอื่นๆของกิจกรรมเวลาว่างที่ลูกๆเข้าร่วม ถือเป็นสิ่งที่ดีหากคุณในฐานะผู้ปกครองพูดคุยกับผู้ปกครองคนอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องของกิจกรรมเวลาว่าง ครูหลายคนรู้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนทำในช่วงเวลาว่าง

การฉลองวันเกิด

เป็นเรื่องปกติที่มีการเชิญแขกไปงานฉลองวันคล้ายวันเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษา เด็กหลายคนมีอาการแพ้อาหารหรือเคยชินกับการทานอาหารอื่นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมงานฉลองดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแจ้งให้ผู้ปกครองคนอื่นๆทราบ ว่ามีอะไรที่ลูกของคุณแพ้หรือทานไม่ได้ก่อนเข้าร่วมงานฉลองวันคล้ายวันเกิด เป็นเรื่องปกติที่มีของขวัญเล็กๆ มามอบให้เจ้าของวันเกิด ถือว่าเป็นความคิดที่ดีที่จะพูดคุยเกี่ยวกับวันเกิดและเห็นด้วยกับขนาดของขวัญเมื่อมีการประชุมผู้ปกครอง สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือจะไม่มีเด็กคนไหนถูกกีดกันจากการฉลองดังกล่าว

การแนะแนวและการศึกษาต่อ

สิทธิในการได้รับการแนะแนวการศึกษาด้านสังคม

โรงเรียนจะต้องส่งเสริมการพัฒนาตนเองและการพัฒนาด้านสังคม รวมถึงการพัฒนาด้านวิชาการและการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย การให้คำปรึกษานี้จะช่วยนักเรียนในการค้นหาโรงเรียนที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการได้ ทั้งนี้ยังช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาส่วนตัว ด้านสังคม หรือด้านอารมณ์ซึ่งมีผลต่อการเรียนและสภาวะทางสังคมที่โรงเรียนของนักเรียน
การช่วยเหลืออาจประกอบด้วยการชี้แจงปัญหาต่างๆและขอบเขตของปัญหา รวมทั้งชี้แนะว่าทางโรงเรียนสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง นักเรียนสามารถได้รับความช่วยเหลือภายนอกโรงเรียนได้เช่นกัน ครูแนะแนวการศึกษาด้านสังคมสามารถช่วยโดยการค้นหาและติดต่อเจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือได้ถูกต้อง

การแนะนำการศึกษาและอาชีพ

ครูแนะแนวในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจะให้ข้อมูลแก่นักเรียนและผู้ปกครอง เกี่ยวกับสาขาวิชาใดในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่นักเรียนควรจะสมัครได้
การแนะนำการศึกษาและอาชีพนั้น จะช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่า ความสนใจ และคุณสมบัติของตนเอง ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจตนเองและเพิ่มความสามารถของนักเรียนในการเลือกการศึกษาและอาชีพได้อย่างถูกต้อง ครูแนะแนวจะช่วยประเมิณผลจากการเลือกของนักเรียน และช่วยป้องกันการเลือกการศึกษาและอาชีพผิดหรือไม่เหมาะสม
นักเรียนจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับ

  • การเลือกอาชีพ
  • โอกาสด้านการศึกษาในประเทศนอร์เวย์ และในต่างประเทศ
  • ตลาดงานในประเทศ และระหว่างประเทศ
  • การใช้เครื่องมือคำแนะนำต่างๆ

การเปลี่ยนเข้าสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

เยาวชนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนสมัครเข้าเรียนในระดับการศึกษาตอนปลายในขณะที่นักเรียนยังเรียนอยู่ในระดับ 10
นักเรียนที่เข้ามาอยู่ในประเทศนอร์เวย์ในช่วงปลายของการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อาจจำเป็นได้รับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มเติมก่อนที่พวกเขาจะเริ่มศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เทศบาลประจำอำเภอบางแห่งจัดให้มีเรียนเพิ่มพิเศษอีกหนึ่งปีในระดับการศึกษาภาคบังคับ ในขณะที่สถานที่อื่นๆนักเรียนเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับสำหรับผู้ใหญ่ หรือการศึกษาพิเศษเบื้องต้นในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในหลายสถานที่มีชั้นเรียนที่เรียกว่า ชั้นเรียนรวม(kombinasjonsklasser) เป็นห้องเรียนที่เยาวชนได้รับการเรียนการสอนระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

Informasjon om norsk grunnskole på thai

Alle foto er hentet fra shutterstock.com